วันอังคารที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2552

พระธรรมเทศนา เรื่อง "การทำความดี" โดยหลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ

เนื้อความ :

คัดจากหนังสือ "ธรรมลังการ" ซึ่งจัดพิมพ์เนื่องในโอกาสที่หลวงปู่สุวัจน์เจริญอายุครบ ๘๑ ปี เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๔๓ ค่ะ

เจริญในธรรม


การทำความดี


ต่อไปนี้ ถึงเวลาที่เราจะปฏิบัติ จิตตภาวนา เราได้กระทำมาทุกวันๆ เพื่อเป็นเครื่องอบรมบ่มนิสัย ให้เป็นปัจจัยน้อมนำไปในทางที่ดี เพื่อประโยชน์ เกื้อกูลแก่ตัวของเราเอง การทำความดีให้ถูกต้อง ตรงตามธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า สมควรอย่างยิ่งที่เราทั้งหลาย ที่ต้องการความสุข ต้องการความสงบ ต้องการออกจากทุกข์ ไม่มีการออกจากทุกข์ใดๆที่สำคัญเหมือนกับการสร้างความดี แม้ในอดีต ผู้ที่ได้ความสุข ล้วนแต่เป็นผู้ประพฤติดีทั้งนั้น ไม่มีใครประพฤติชั่วแล้วได้ความสุข ได้สำเร็จมรรคผลนิพพาน ไม่มี

เมื่อเราทราบชัดอย่างนี้แล้ว เราก็มุ่งมั่นทำแต่ความดี ไม่ต้องลังเลใจ สงสัยในจิตในใจว่า เราทำนี้จะได้รับผลไหมหนอ เราจะได้ความดีไหมหนอ มัวแต่ลังเลใจ มัวแต่สงสัยในจิตในใจ กาลเวลาหมดไปๆ ผลที่สุด เราก็ไม่ได้อะไร เพราะเราไม่ได้ตัดสินใจให้แน่วแน่ และประพฤติปฏิบัติลงไป การทำความดีนั้น ไม่ใช่เราคิดทำเอง โดยไม่มีเหตุมีผล โดยไม่มีเยี่ยงอย่าง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเนติแบบฉบับ เป็นบรมครูของเรา ที่ท่านได้เป็นพระศาสดาเอกในโลกได้ เพราะพระองค์ทำความดี ด้วยกาย ด้วย วาจา และด้วยจิตใจ เสมอตลอดมา ความดีจึงปรากฏขึ้นสมบูรณ์บริบูรณ์ในพระองค์

ตรงกันข้ามกับบุคคลที่ทำไม่ดี สร้างความทุกข์ใส่ตัวเอง แล้วก็สร้างความทุกข์ให้ผู้อื่น สร้างความไม่สงบ สร้างความเดือดร้อน สร้างความเสื่อมเสีย หลายอย่างด้วยกัน ทั้งหมดนี้ล้วนจากสิ่งไม่ดีทั้งนั้น ทำไมการทำอย่างนั้นจึงเป็นสิ่งที่ไม่ดี เพราะทุกคนไม่ชอบผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำเช่นนั้น การกระทำเช่นนั้น จึงได้จัดในหมู่ ในหมวดในทางที่ไม่ดี ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์พยายามละ และแนะนำสั่งสอนให้สาวกละตามด้วย เราทั้งหลายปฏิบัติความดีด้วยจิตตภาวนานี้ ก็เพื่อให้ห่างจากสิ่งไม่ดีนั้นเอง เพราะเราคนเดียว กายก็มีกายอันเดียว เมื่อกายของเราทำความดีแล้ว เราก็เท่ากับเหินห่างจากสิ่งที่ไม่ดี วาจาของเรา เมื่อเราพูดแต่สิ่งที่ดี มีประโยชน์ เป็นวาจามั่นคง เป็นวาจาที่สะอาดบริสุทธิ์หมดจด บัณฑิตทั้งหลายนิยมชมชอบ เมื่อเราพูดแต่สิ่งที่ไม่ดี ไม่เกิดประโยชน์ เราก็ไม่ได้พูด ก็ชื่อว่าเราห่างจากสิ่งที่ไม่ดี เมื่อจิตใจน้อมนึกระลึก สิ่งที่ดีมีประโยชน์ ให้เกิดสติ เกิดปัญญา เกิดศรัทธา เกิดความเพียรพยายาม ล้วนแต่ให้เกิดประโยชน์สุขแก่ตัวของตัวเอง ก็เท่ากับเราไม่ได้ไปคิดในเรื่องที่ชั่ว เรื่องที่มีโทษ เมื่อเราคิดแต่เรื่องที่เป็นประโยชน์ เมื่อเรากระทำความดีอยู่อย่างนี้ ชีวิตความเป็นอยู่ของเรา ก็ล้วนแต่อยู่ด้วยดี ชีวิตที่ผ่านมาหมดไปแล้ว ก็หมดไปด้วยดี ชีวิตที่ยังเหลืออยู่ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติไม่ลดละ ความดีของเรายิ่งงอกงาม เจริญเพิ่มเติมขึ้นอีกตามลำดับ เราสามารถจะมีกำลังเอาชนะสิ่งที่ไม่ดี อันเป็นสาเหตุให้ขัดขวางความดีได้ เพราะเหตุนั้น การทำความดีเป็นสิ่งที่จำเป็น เราควรศึกษาให้เข้าใจชัด ให้เห็นแจ้งตามหลักแห่งความจริง แล้วมุ่งมั่นปฏิบัติด้วยสัจจะ จึงจะรู้ของจริง จึงจะได้ประสบความจริง เพราะคำว่าเป็นธรรมมีอยู่ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา แต่จิตของเรา เมื่อยังไม่เป็นธรรมแล้ว ถึงธรรมมีอยู่เราก็อ่านไม่ออก เพราะเราไม่ได้ศึกษา

เหมือนผู้ไม่ได้ศึกษาตัวหนังสือ ไม่ได้ศึกษาภาษาต่างๆ เขาใช้ได้ทั่วโลก แต่เราไม่ได้ศึกษา แล้วเราก็พูดไม่ได้ อ่านไม่ออก ถึงมีอยู่ ไม่ใช่ไม่มี

ความสุขมีอยู่ แต่เราไม่ได้ศึกษาให้ถูกต้อง เราก็ไม่ได้รับผลจากสิ่งที่มีอยู่ คือ ความสุข ไม่ได้เป็นสมบัติของเราเลย เป็นสมบัติเลื่อนลอยอยู่อย่างนั้น ไม่เกิดประโยชน์แก่บุคคล ผู้ไม่รู้จัก บุคคลผู้ไม่ศึกษา มรรค ผล ธรรมวิเศษ ถึงมีอยู่ก็ตาม เมื่อเราไม่ได้ศึกษาให้เข้าใจ ไม่ประกอบให้ปรากฏขึ้นเป็นสมบัติของเราแล้ว เหมือนกับไม่มี ไม่ได้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ พระพุทธเจ้าเท่านั้น พระอริยเจ้าเท่านั้น ท่านเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากธรรมะซึ่งเป็นของจริง เป็นสิ่งที่มั่นคง ท่านได้รับประโยชน์จากธรรมะเหล่านั้น ท่านก็ได้พ้นจากทุกข์ เพราะอาศัยรู้ธรรมสิ่งเหล่านี้ อาศัยปฏิบัติธรรม อันเป็นความจริงเหล่านี้

ธรรมที่เป็นความจริงที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ถึงแม้ว่าท่านสอนหลายนัย หลายอย่าง มีประการต่างๆ ก็จริงแล แต่ถ้าหากเราจะเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์แล้ว ไม่จำเป็นจะต้องเอามาทั้งหมด

เหมือนกับเราบริโภคอาหาร หรือเหมือนกับเราต้องการยาบำบัดโรค ซึ่งเภสัชกรเขาแต่งไว้หลายขนานหลายอย่างด้วยกัน เราก็ไม่จำเป็นจะต้องไปเหมายานั้นมาบริโภคให้หมด ให้ร่างกายสมบูรณ์บริบูรณ์ ให้มั่นคง ดีไม่ดีก็เป็นอันตรายด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะบริโภคยา เพื่อบำบัดโรค จะต้องศึกษาโรค ศึกษายาให้แน่ชัด แล้วเอามาใช้ให้เหมาะสม ให้พอดีกับโรคพอดีกับยา ก็ย่อมได้รับประโยชน์

การปฏิบัติก็เช่นเดียวกัน ไม่จำเป็นจะต้องเหมาพระไตรปิฏก ให้เหมาะสมแก่จริตแก่นิสัยของเรา ให้รู้จักนิสัยของเรา ให้รู้จักอารมณ์ที่เกิดขึ้นในจิตใจของเรา

อารมณ์ส่วนกิเลส ส่วนไหนเบาบาง ส่วนไหนหนาแน่น ส่วนไหนเราจะเอาธรรมจากส่วนไหนมากำจัด มาระงับ เราก็เลือกเอาให้เหมาะสม พอดีพองาม เราก็จะได้รับประโยชน์ จาการประพฤติ การปฏิบัติ ไม่ต้องเสียเวลา เพราะเหตุนั้น ท่านจึงสอนให้ตรวจตรา พิจารณาดูอารมณ์ ที่เกิดขึ้นในจิตใจของเรา อารมณ์ในส่วนที่ไม่ดี ก็สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ในใจดวงนี้ อารมณ์ที่ดี สิ่งที่ดี ก็สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ในจิตใจดวงนี้ เมื่อทั้งดี ทั้งไม่ดี ทั้งมีประโยชน์ ไม่มีประโยชน์ มันมีอยู่อย่างนี้แล้ว จำเป็นที่เราจะต้องศึกษา แล้วเลือกดูหน้าตาให้ชัด บางทีเราอาจจะเข้าใจผิด ของแท้อาจจะเข้าใจว่าเป็นของเทียมก็ได้ ของเทียมอาจจะเข้าใจผิดว่าเป็นของแท้ก็ได้

เพราะฉะนั้น ต้องสังเกตดูนานๆ ดูเหตุผล ให้แน่นอน ให้แจ้งชัด เมื่อเราเห็นเหตุ เราจะทำเหตุ เราจะพูด เราก็ต้องตรวจดูถึงผล ว่าเราจะทำกรรมใดๆ จะลงมือทำก็ต้องตรวจ พินิจพิจารณาดูผลที่จะเกิดขึ้น

เราจะปฏิบัติทางจิตใจก็เช่นเดียวกัน เมื่อเรารู้ทั้งเหตุทั้งผลแล้ว เราปฏิบัติมีศรัทธาเชื่อมั่น มีความเพียรพยายาม จิตตั้งมั่น มีความระลึกไม่ลดละ มีปัญญาสอดส่อง ตรวจตรองแก้ไข ไปตามลำดับ ก็จะถึงจุดหมายปลายทาง ได้รับความสงบ ได้รับความสุข ตามเป้าหมายที่เราทั้งหลายได้ตั้งใจไว้ ไม่เป็นสิ่งเหลือวิสัย

พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น พระองค์สอนพอดีแล้ว แต่เราผู้มาใช้ไม่รู้จักประมาณในการใช้ ไม่รู้จักพอดี ถ้าเรารู้จักมาใช้พอดี ให้เหมาะสมแล้ว ก็ย่อมมีประโยชน์แก่ทุกๆคน

เหมือนเครื่องจักร เครื่องยนต์ นายช่างที่เขาทำพอดีแล้ว ท่อนเหล็กชนิดไหนมันก็หมุนไปได้ เดินไปได้ไม่ว่าท่อนไหน เหมาะสมในตามรูปร่างลักษณะของมันแล้ว มันก็สำเร็จประโยชน์ จะใช้ไปในทางที่กำหนดเวลา ก็ตรงกับเวลา จะใช้ในประเภทไหนๆ ก็ให้เหมาะสม พอดีในประเภทนั้นๆ ก็ได้สำเร็จประโยชน์ ฉันใด

การอบรมฝึกฝนจิตใจจะหนาแน่นสักเท่าไรก็ตาม ไม่เหลือวิสัย ที่สติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียรพยายามของเรา ที่จะไม่ได้ เพราะมีผู้ทำได้แล้ว เราก็ต้องทำได้เช่นเดียวกัน กิเลส มันไม่ใช่ว่ามันฉลาดแค่ไหน ลึกลับมาจากไหน มันก็แสดงออกมาในจิตก็มีขึ้นในจิต ไม่ได้มีบนฟ้า บนอากาศที่ไหนที่เราจะไปไม่ถึง มันมีอยู่ในกาย ใจจิตของเรานี้ เมื่อกายมีอยู่ เราก็สามารถที่จะรู้ได้ ถ้าเราศึกษา เมื่อจิตมีอยู่ เราก็สามารถจะรู้ได้

เพราะพระพุทธเจ้านั้น พระองค์ศึกษาแค่นี้เอง พระองค์ไม่ได้เที่ยวไปศึกษาที่ไหน แต่พระองค์ก็สามารถเป็นโลกวิทู พระองค์รู้แจ้งเรื่องโลก พระองค์ไม่ได้แต่งขึ้นยานพาหนะไปเที่ยวประเทศนั้น ประเทศนี้ ไปเที่ยวจักรวาลนั้น ไปเที่ยวจักรวาลนี้ เปล่า พระองค์นั่งอยู่ในที่แห่งเดียวเท่านั้น พระองค์ยังสามารถระลึกทั้งในปัจจุบัน ทั้งอดีต อย่าว่าแต่โลกนี้ บุพเพแต่ชาติปางก่อน ถอยหลังร้อยชาติ อสงไขยชาติ ก็สามารถที่จะรู้ได้ เห็นได้ แม้แต่อนาคตข้างหน้า พระองค์ก็สามารถรู้ได้ตามความเป็นจริง ไม่คลาดเคลื่อน ว่าสัตว์ทั้งหลายเกิดมาทำกรรม กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ประพฤติประกอบไปด้วยความสุจริต มีศีลธรรม มีศรัทธาอันชอบ มีความเพียรอันชอบ เป็นสัมมาทิฏฐิ รู้จักคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีความเคารพนบนอบ ในคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ รู้จักคุณบิดามารดา ครูบาอาจารย์ เป็นคนมีกายอันสะอาด มีวาจาสะอาด มีจิตใจสะอาด เมื่อละขันธ์คือ อัตภาพ อันนี้ไปแล้ว ได้ไปสู่สุคติโลกสวรรค์เป็นจำนวนมาก

บุคคลผู้มีกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เป็นมิจฉาทิฏฐิ ถือมั่นในมิจฉาทิฏฐิ ไม่เคารพต่อบุคคลที่ควรเคารพ ไม่บูชาต่อบุคคลหรือวัตถุที่ควรบูชา มีความโลภครอบงำ มีความอิจฉาริษยาอยู่ประจำ ในจิตใจอยู่ตลอดเวลา เมื่อละขันธ์แล้ว ไปสู่ทุคตินรก อสูรกาย สัตว์เดียรัจฉาน ตกทุกข์ได้ยาก พระองค์เห็นชัด ที่ตกนรกก็ดี ไปเกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉานก็ดี เป็นเปรตก็ดี พระองค์เห็นด้วยธรรมจักษุ ด้วยตาอันสะอาด บริสุทธิ์หมดจด ไม่มีอะไรสงสัย

เพราะฉะนั้น พระองค์ไม่ได้เที่ยวที่ไหน พระองค์ก็รู้ในใจนี้เอง เพราะสิ่งเหล่านี้มีขึ้นในใจ

เพราะฉะนั้น เราทั้งหลาย ใจนี้ควรฝึก ใจนี้ควรอบรม เมื่อเราอบรมดีแล้ว ประโยชน์สุขมาสู่ตัวของเรา ที่เราทั้งหลาย ได้พยายามตั้งใจอบรม มาตามลำดับ ได้ทำมาแล้ว ควรจะทำต่อไป

ถ้าเราทั้งหลาย ทำไม่ลดละ พยายามติดต่อต่อเนื่องกัน จิตใจของเราจะต้องฉลาดแน่นอน

เหมือนกับเราพยายามเรียนหนังสือ หรือฝึกหัดวิชาการทำงานทางโลก แรกๆ เราก็ทำอะไรไม่เป็น เมื่อเราฝึกไปๆ แล้ว จิตใจก็ย่อมฉลาด

เพราะฉะนั้น ที่เราได้อัตภาพเป็นมนุษย์ ดีหนักหนาแล้ว มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ ที่พูดกันรู้เรื่อง สามารถปฏิบัติได้ พระองค์ก็ได้อัตภาพเป็นมนุษย์ก่อน จึงได้เป็นพระพุทธเจ้า จึงได้เป็นอรหัตอรหันต์ จึงสามารถจะศึกษาปฏิปทา ปฏิบัติให้สิ้นกิเลส แล้วพระองค์สั่งสอนมวลมนุษย์ เป็นผู้จรรโลงพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ไว้ ก็อยู่ในโลกมนุษย์นี้เอง มนุษย์นี้เองเป็นผู้รับทายาท ศาสนธรรม คำสอนของพระองค์ ไม่ใช่อื่นไกล ก็พวกเรานี้แหละ เป็นมนุษย์ก็พวกเรานี้แหละ ควรฝึกได้ ปฏิบัติได้ ศึกษาได้ พวกเรานี้จะทำให้สงบได้ ให้มีความสุขได้ เมื่อเราทำไม่ดียังทำได้ ทำดีจะทำไม่ได้หรือ เมื่อวุ่นวายก่อกวน มันก็วุ่นวายได้ เราจะสงบไม่ได้หรือ เราจะปฏิบัติให้มันตรงกันข้ามกับสิ่งที่ไม่ดี พิจารณาให้ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ไม่ดี เพราะสิ่งที่ไม่ดีนั้น อย่าเข้าใจว่ามันมีอุปการคุณ เป็นมิตรแก่เรา เราถือว่าสิ่งที่ไม่ดีนี้เป็นทุกข์ภัยที่เราควรหลีก ควรละ ควรเว้น ตั้งแต่ไหน แต่ไรมา สิ่งที่ไม่ดีเราเรียกว่าอกุศลธรรมก็ดี ไม่ว่าทางทวารไหนก็ตาม เมื่อบังเกิดแล้ว ไม่ใช่เกิดเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข เกิดเพื่อแผดเผา ให้คนทั้งหลายได้ทุกข์ ได้ความเดือดร้อน ส่วนความดี ทานก็ดี ศีลก็ดี ภาวนาก็ดี เมื่อบังเกิดแล้ว บังเกิดเพื่อความสุข เพื่อประโยชน์เกื้อกูล แก่บุคคลนั้นด้วย เกื้อกูลแก่โลกด้วย

เพราะฉะนั้น การบังเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า การบังเกิดขึ้นของพระธรรม การเกิดขึ้นของพระอริยสงฆ์ จึงเป็นสิ่งที่บังเกิดขึ้น เพื่อประโยชน์ เกื้อกูล ความสุขแก่สาธุชนเวไนยสัตว์ทั้งหลาย

เราทั้งหลาย ที่ได้มาพบ ประสบ ได้ศึกษา ประพฤติ ปฏิบัติ นับว่าเป็นบุญลาภอย่างประเสริฐ ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้เสมอทุกครั้งไป ไม่ใช่ว่ามีทุกแห่งทุกหน มีบางส่วนบางจุดเท่านั้น แล้วก็มีบางคราวเท่านั้น แม้แต่คำว่า พุทโธๆ ไม่ใช่ว่าได้ยินประจำโลก ทุกกาลทุกสมัยเมื่อไหร่ ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสรู้บังเกิดในโลก และวางศาสนาไว้แล้ว แม้แต่พุทโธก็ไม่เคยได้ยิน ธัมโมก็ไม่เคยได้ยิน สังโฆก็ไม่เคยได้ยิน ศีล สมาธิ ปัญญา ก็ไม่เคยได้ยินแล้ว จะปฏิบัติอย่างไร มันก็เหมือนสัตว์ไม่รู้จักอะไรอย่างนั้นน่ะ เพราะสอนกันไม่มีใครจะสอนใคร ไม่มีใครจะบอกใคร เพราะไม่มีใครรู้

ต่อเมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ปรากฏขึ้นแล้วในโลก พระธรรมจึงได้ปรากฏ พระสงฆ์ก็ปรากฏ แท้จริงพระธรรมก็มีอยู่ก่อนแล้ว แต่มันยังไม่ปรากฏ เพราะไม่มีผู้ฟื้นฟูขึ้นมาตบแต่ง เอามาใช้ให้เกิดประโยชน์

เพราะฉะนั้น พึงเข้าใจว่า ปัจจุบันที่เราเกิดมานับว่าเป็นผู้มีโชคดี อย่าให้ความดีนี้ผ่านไปโดยไร้ประโยชน์ แต่ละวันๆ ควรตั้งใจประกอบให้ผ่าน ให้สิ่งที่ผ่านไป ก็ผ่านไปด้วยดี ชีวิตของเราที่ยังเหลืออยู่ก็ให้ได้คุณธรรม คุณสมบัติ ความดีที่เราทำไว้ในใจ ไม่ได้หมดไปด้วย ตามเดือน ปี ตามกาลเวลา

เหมือนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้แต่ธาตุขันธ์ กาลเวลาหมดไป นานไป 2,000 กว่าปีแล้ว ความดีที่พระองค์ได้ทำไว้ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ได้ล่วงไป ไม่ได้หมดไป ยังเหลืออยู่ให้เป็นมรดกตกทอดแก่เราทั้งหลายได้ศึกษาปฏิบัติฝึกหัดอบรม

เพราะเหตุนั้น จึงมั่นใจในความดี ที่เราประพฤติปฏิบัติอยู่ว่า ไม่ได้หมดไปตามกาล ตามเวลา ยิ่งปฏิบัติเห็นสัจจะความจริงเท่าไรแล้ว เป็นสิ่งที่มั่นคง และเป็นสิ่งที่ไม่ตาย เป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ตลอดเวลา ถ้าเรารู้จัก แต่ถ้าเราไม่รู้จักแล้ว ถึงมีอยู่เหมือนกับไม่มี มันก็ไม่เห็น เพราะไม่รู้จัก

เพราะฉะนั้น เราทั้งหลายตั้งใจศึกษาของจริงอย่างประเสริฐ ไม่ได้อยู่ที่อื่นไกล อยู่ในใจของเรา ทุกข์ก็เป็นของจริงอย่างประเสริฐ มีอยู่ในตัวของเรานี้แหละ พระพุทธเจ้าไม่ได้รู้ตัวที่ไหน รู้อยู่ที่นี่ ท่านอ่านทุกข์ อ่านสมุทัย ที่มีอยู่ที่นี่ทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น ถ้าจิตใจของเรา อบรมให้แน่วแน่ผ่องใส ด้วยศรัทธาเลื่อมใส ได้รับความสงบแล้ว เราจะมองเห็นชัด จะรู้ชัด ตามลำดับ ในธรรมที่เราจะต้องรู้ต้องเห็นเป็นประทีปคอยส่องดู สิ่งไหนผิด สิ่งไหนถูก สิ่งไหนควร สิ่งไหนไม่ควร เราก็จะได้หลบหลีก และได้เจริญในสิ่งที่มีประโยชน์

เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้ตั้งใจสอดส่อง ธัมมวิจยะ คือ ส่องธรรม ถ้าพูดถึงธรรมแล้ว ก็ต้องพูดถึงใจด้วย เพราะธรรมไม่ได้เกิดนอกใจ มีใจถึงก่อน สำเร็จด้วยใจ เพราะฉะนั้นเราก็ส่องดูใจ เมื่อเราเห็นใจ ก็เห็นธรรม เมื่อเราเห็นธรรมก็เห็นใจอยู่ในที่นั้น เพราะฉะนั้น เราต้องพยายามระลึก เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งละเอียด ถ้าเราไม่ระลึกไว้ เราก็ไม่เห็น ถึงมีอยู่ก็ไม่เห็น เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ ต้องอาศัยความระลึกขึ้นมา จะเป็นพุทโธๆ เราก็ระลึกรู้อยู่ตามลำดับ สติก็ปรากฏขึ้นมา สุข ทุกข์ ที่มีอยู่มันเปลี่ยนแปลงอย่างไร เราก็จะได้รู้ อารมณ์หยาบ ละเอียด มีอยู่ในจิตใจ เราก็จะได้รู้ จิตใจค่อยสงบ ละเอียด สบาย ตามลำดับ เราก็จะได้รู้ความสบาย จะได้เห็นความสบาย ชัดขึ้นในจิตใจของเรา เราก็จะได้เป็นเครื่องเปรียบเทียบได้ว่า เมื่อจิตของเรา ที่ยังไม่ได้ปฏิบัติเป็นอย่างไร เมื่อเราระลึกพุทโธๆ ไปแล้ว ความรู้สึกเป็นอย่างไรนั้น แน่นอน จิตใจของเราจะต้องละเอียด จะต้องเบา จะต้องสบายกว่าที่เราปล่อยจิตให้มัวเมา เลินเล่อไปในเรื่องอื่น เรามีความรู้ตัวมากขึ้น มีความเห็นชัดในส่วนผิด ในส่วนถูก ก็มีความเห็นชัดขึ้น เกิดความเบื่อหน่ายในสิ่งที่ผิด มีศรัทธาที่จะปล่อย ที่จะวาง ที่จะละ ในส่วนดีก็มีศรัทธาที่จะเจริญ ที่จะเพียรพยายามเจริญขึ้นมา

เพราะฉะนั้น ขอให้เราทั้งหลาย พยายามตั้งใจ ต่อไปนี้จะหยุดการอธิบาย เพื่อให้เราทั้งหลายได้ส่องธัมมวิจยะ ส่องดูธรรมของเรา พุทโธๆ รักษาอยู่อย่างนั้นให้พอดี พองาม

คำว่า "พอดี" เราก็รู้จักแต่งให้มันพอดีในใจของเรา ให้มันสงบ ให้มันเบา มันสบาย ตามลำดับ อย่าให้มันเกิน ส่วนเกินส่วนไหน เราก็เอาออก เราไม่เอา ให้เหลือแต่พอดี ที่มันเกิดความสบายขึ้นมา เกิดความสงบขึ้นมา ถ้ามันจะง่วง มันไม่พอดีแล้วนะ มันโน้ม มันหนัก ไปทางขี้เกียจ ไม่สนใจจะทอดธุระ เราก็สร้างความขยัน เอาใจใส่ขึ้นมา ตั้งมั่นขึ้นมา ถ้ามันจะฟุ้งซ่าน มันก็ไม่พอดีอีกแหละ เพราะฉะนั้นเราก็พยายามรู้ตัวให้มาก ให้รู้สึกอยู่โดยเฉพาะภายใน ให้รวมเข้ามา โอปนยิกธรรม คือ น้อมเข้ามาให้มาก อยู่เฉพาะในใจของเรา สอดส่อง เพ่งเล็ง ตั้งจุดลงตรงนั้น รักษาให้พอดีๆ แม้แต่ลมหายใจก็พอดี ความรู้สึกก็พอดี ถ้าเราทำความพอดีไว้ในใจได้แล้ว ใจก็จะรู้สึกเบา รู้สึกสบาย ละเอียด สงบ ไปตามลำดับ เอ้า! ต่อไปนี้ ตั้งใจให้พอดี

…พระโพธิธรรมาจารย์เถร (หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ)…

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

 

DHAMMA DHAMMO © 2008. Design By: SkinCorner