วันพุธที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2552

ธรรมกับความรักและการแต่งงาน

ธรรมกับความรักและการแต่งงาน

ความงดงามของพระพุทธศาสนาอยู่ตรงที่มีความหลากหลายของธรรมเหมือนกับสวนไม้ดอกนานาพรรณมีดอกไม้หลากสีสันให้คนเลือกเก็บได้ตามต้องการ ธรรมมีจำนวนมากมายหลายประเภทพร้อมที่จะให้แต่ละคนเลือกนำไปปฏิบัติได้ตามความต้องการ ใครอยากไปนิพพานก็มีโลกุตรธรรมสำหรับคนที่ต้องการพ้นโลก ส่วนใครที่อยากประสบความสำเร็จในโลกนี้ก็มีโลกิยธรรมให้นำไปปฏิบัติเพื่อชีวิตที่ดีกว่าในปัจจุบันสำหรับสามีภรรยาที่ต้องการความสำเร็จในชีวิตการแต่งงานก็มีธรรมสำหรับคนครองเรือนให้เลือกปฏิบัติ เป้าหมายแห่งการแต่งงานอยู่ที่การสร้างครอบครัวที่มีแต่ความรักใคร่กลมเกลียวโดยไม่มีการหย่าร้าง สามีภรรยาจะบรรลุถึงเป้าหมายดังกล่าวได้ก็ต่อเมื่อมีการปฏิบัติธรรมร่วมกัน การปฏิบัติธรรมจะช่วยให้ชีวิตคู่เข้มแข็งมั่นคงพอที่จะฝ่ามรสุมต่างๆไปได้ ดังนั้น คู่สามีภรรยาที่ต้องการมีชีวิตการแต่งงานที่ยั่งยืนตลอดไปต้องร่วมกันปฏิบัติธรรม
คำว่า ธรรม ในที่นี้หมายถึงคุณธรรมและจริยธรรม
คุณธรรม ได้แก่ คุณสมบัติที่ดีภายในจิตใจ เช่น ความรัก ความสงสาร ซึ่งช่วยให้คนเราทำหน้าที่ของสามีภรรยาได้โดยไม่ต้องฝืนใจ
จริยธรรม ได้แก่ หลักแห่งความประพฤติที่ดีงามที่จะต้องปฏิบัติเพื่อประโยชน์สุขของตนเอง ครอบครัว และสังคม จริยธรรมเป็นข้อปฏิบัติซึ่งกำหนดไว้โดยศาสนา วัฒนธรรม ประเพณีและกฎหมายว่าอะไรเป็นหน้าที่ที่สามีภรรยาจะต้องทำเพื่อความผาสุกแห่งครอบครัว

จริยธรรมเป็นเรื่องการควบคุมพฤติกรรมที่แสดงออกทางกายและทางวาจา ซึ่งคนอื่นสามารถรับรู้และประเมินได้ว่าเรามีจริยธรรมมากน้อยเพียงใด เช่น การที่สามีภรรยาต้องให้เกียรติกันและกันเป็น
จริยธรรมอย่างหนึ่ง คนทั่วไปสามารถมองเห็นได้ว่าสามีภรรยาคู่นี้ให้เกียรติกันและกันหรือไม่ ตรงกันข้ามกับคุณธรรมซึ่งเป็นเรื่องภายในจิตใจซึ่งยากที่คนทั่วไปจะตรวจสอบได้ว่ามีมากน้อยเพียงใด เช่น ความรักเป็นคุณธรรมอย่างหนึ่ง คนอื่นไม่สามารถจะมองเห็นความรักภายในจิตใจของเราว่ามีมากน้อยเพียงใด เท่าที่คนทั่วไปจะทำได้ก็คือคาดคะเนจากพฤติกรรมภายนอกของเราว่าเรามีความรักในใจมากน้อยแค่ไหน
คุณธรรมเป็นรากฐานของจริยธรรม เมื่อสามีมีคุณธรรม คือ ความรักภรรยาอยู่ในหัวใจ เขาก็จะปฏิบัติหน้าที่ของสามีต่อภรรยาโดยไม่ต้องฝืนใจ ความรักทำให้สามียอมเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อครอบครัวของเขา ดังนั้น ความรักจึงเป็นรากฐานสำคัญของชีวิตการแต่งงาน คู่สามีภรรยาที่แต่งงานกันด้วยความรักจะสามารถปรับตัวเข้าหากันได้ดีกว่าคู่ที่แต่งงานกันโดยไม่มีความรัก เพราะความรักจะทำให้คู่รักยอมลงให้กันและทนกันได้

คำว่า ความรัก ในพระพุทธศาสนา มี ๒ ประเภท ดังนี้
๑. เปมะ ได้แก่ ความรักใคร่หรือความรักแบบโรแมนติกซึ่งเกิดจากสาเหตุ ๒ ประการ คือ (๑) บุพสันนิวาสหญิงชายเคยอยู่ร่วมกันมาแต่ชาติปางก่อนเมื่อเกิดใหม่มาพบกันในชาตินี้จึงเป็นเนื้อคู่กันและรักกัน (๒) การดูแลช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชาติปัจจุบันก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งของความรัก แม้หญิงชายจะไม่เคยอยู่ร่วมกันมาแต่ชาติปางก่อน ทั้งคู่ก็รักกันได้เพราะความมีน้ำใจของอีกฝ่ายหนึ่งที่คอยช่วยเหลือเกื้อกูลกัน
๒. เมตตา ได้แก่ ความปรารถนาดีหรือความหวังดีที่จะให้คนอื่นมีความสุข ซึ่งเกิดจากการมองเห็นความดีงามหรือความน่ารักของคนอื่นแล้วเกิดความประทับใจจนถึงกับคิดส่งเสริมให้เขามีความดีงามหรือความน่ารักยิ่งๆขึ้นไป
ชีวิตการแต่งงานจะยั่งยืนนานถ้ามีความรักทั้งสองอย่าง คือ มีทั้งความรักแบบโรแมนติก และ ความรักแบบเมตตาเป็นพื้นฐาน ความรักแบบโรแมนติกสร้างความสุขความเพลินใจเมื่ออยู่ใกล้คนรัก แต่ไฟแห่งความรักใคร่มักโชติช่วงอยู่ได้ไม่นาน ความเคยชินเพราะอยู่ด้วยกันมานานมักทำให้ความรักใคร่จืดจางไปได้ ด้วยเหตุนี้ เราจึงต้องมีความรักแบบเมตตาตามประกบความรักใคร่เพื่อให้ความรักยั่งยืนยาวนาน
ความรักแบบโรแมนติกถูกความน่ารักน่าปรารถนาของคู่ครองเป็นเครื่องกระตุ้นให้เกิดอารมณ์รัก ความรักใคร่นี้มีธรรมชาติไม่แน่นอน เวลาใดคนรักทำตัวมีเสน่ห์น่ารัก เวลานั้นอารมณ์รักใคร่ก็จะเบ่งบานมีพลัง เวลาใดคนรักเอาแต่ใจทำตัวไม่น่ารัก เวลานั้นความรักใคร่ก็จะอับเฉาร่วงโรย ความรักใคร่แบบโรแมนติกจึงมีสภาวะขึ้นลงตามปัจจัยเงื่อนไขภายนอกอัน ได้แก่ กิริยาอาการของคนรักเป็นสำคัญ
ความรักใคร่แบบโรแมนติกเกิดโดยสิ่งเร้าภายนอกจากคนรักเป็นสำคัญจึงมีสภาวะไม่คงที่ถาวร สามีภรรยาที่ประสงค์จะทำให้ความรักใคร่เข้มแข็งมั่นคงต้องผสมความรักแบบโรแมนติก ด้วยความรักแบบเมตตา
ความรักแบบโรแมนติกเปรียบเหมือนรถยนต์ที่อาศัยคนอื่นคอยเติมเชื้อเพลิงให้อยู่เสมอจึงจะแล่นไปได้ แต่ความรักแบบเมตตาเปรียบเหมือนรถยนต์ที่เจ้าของผลิตเชื้อเพลิงได้เองอย่างไม่มีขีดจำกัดจึงแล่นไปได้ตลอดเวลา ทั้งนี้เพราะความรักแบบเมตตาเป็นสิ่งที่ใจเราสร้างขึ้นมาเองด้วยการฝึกมองให้เห็นความดีงามของคนอื่น คนเราจะมีเมตตาในใจได้ต้องฝึกมองโลกในแง่ดี ถ้าสามีภรรยาสามารถฝึกใจให้มองแต่แง่ดีของคู่ครอง ต่างฝ่ายต่างจะรักกันและกันได้ตลอดเวลาแม้แต่ในยามที่อยู่ด้วยกันมานานจนข้อบกพร่องของอีกฝ่ายหนึ่งเริ่มปรากฏออกมา สามีภรรยาต้องสามารถทำใจให้มองข้ามข้อบกพร่องเหล่านั้นและเพ่งความสนใจไปอยู่ที่ความดีงามของคู่ครอง ดังคำประพันธ์ที่ว่า

มองโลกแง่ดีมีผล เห็นคนอื่นดีมีค่า ปลุกใจให้เกิดศรัทธา ตั้งหน้าทำดีมีคุณ

วันอังคารที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2552

พระธรรมเทศนา เรื่อง "การทำความดี" โดยหลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ

เนื้อความ :

คัดจากหนังสือ "ธรรมลังการ" ซึ่งจัดพิมพ์เนื่องในโอกาสที่หลวงปู่สุวัจน์เจริญอายุครบ ๘๑ ปี เมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๔๓ ค่ะ

เจริญในธรรม


การทำความดี


ต่อไปนี้ ถึงเวลาที่เราจะปฏิบัติ จิตตภาวนา เราได้กระทำมาทุกวันๆ เพื่อเป็นเครื่องอบรมบ่มนิสัย ให้เป็นปัจจัยน้อมนำไปในทางที่ดี เพื่อประโยชน์ เกื้อกูลแก่ตัวของเราเอง การทำความดีให้ถูกต้อง ตรงตามธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า สมควรอย่างยิ่งที่เราทั้งหลาย ที่ต้องการความสุข ต้องการความสงบ ต้องการออกจากทุกข์ ไม่มีการออกจากทุกข์ใดๆที่สำคัญเหมือนกับการสร้างความดี แม้ในอดีต ผู้ที่ได้ความสุข ล้วนแต่เป็นผู้ประพฤติดีทั้งนั้น ไม่มีใครประพฤติชั่วแล้วได้ความสุข ได้สำเร็จมรรคผลนิพพาน ไม่มี

เมื่อเราทราบชัดอย่างนี้แล้ว เราก็มุ่งมั่นทำแต่ความดี ไม่ต้องลังเลใจ สงสัยในจิตในใจว่า เราทำนี้จะได้รับผลไหมหนอ เราจะได้ความดีไหมหนอ มัวแต่ลังเลใจ มัวแต่สงสัยในจิตในใจ กาลเวลาหมดไปๆ ผลที่สุด เราก็ไม่ได้อะไร เพราะเราไม่ได้ตัดสินใจให้แน่วแน่ และประพฤติปฏิบัติลงไป การทำความดีนั้น ไม่ใช่เราคิดทำเอง โดยไม่มีเหตุมีผล โดยไม่มีเยี่ยงอย่าง

องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เป็นเนติแบบฉบับ เป็นบรมครูของเรา ที่ท่านได้เป็นพระศาสดาเอกในโลกได้ เพราะพระองค์ทำความดี ด้วยกาย ด้วย วาจา และด้วยจิตใจ เสมอตลอดมา ความดีจึงปรากฏขึ้นสมบูรณ์บริบูรณ์ในพระองค์

ตรงกันข้ามกับบุคคลที่ทำไม่ดี สร้างความทุกข์ใส่ตัวเอง แล้วก็สร้างความทุกข์ให้ผู้อื่น สร้างความไม่สงบ สร้างความเดือดร้อน สร้างความเสื่อมเสีย หลายอย่างด้วยกัน ทั้งหมดนี้ล้วนจากสิ่งไม่ดีทั้งนั้น ทำไมการทำอย่างนั้นจึงเป็นสิ่งที่ไม่ดี เพราะทุกคนไม่ชอบผลที่เกิดขึ้นจากการกระทำเช่นนั้น การกระทำเช่นนั้น จึงได้จัดในหมู่ ในหมวดในทางที่ไม่ดี ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์พยายามละ และแนะนำสั่งสอนให้สาวกละตามด้วย เราทั้งหลายปฏิบัติความดีด้วยจิตตภาวนานี้ ก็เพื่อให้ห่างจากสิ่งไม่ดีนั้นเอง เพราะเราคนเดียว กายก็มีกายอันเดียว เมื่อกายของเราทำความดีแล้ว เราก็เท่ากับเหินห่างจากสิ่งที่ไม่ดี วาจาของเรา เมื่อเราพูดแต่สิ่งที่ดี มีประโยชน์ เป็นวาจามั่นคง เป็นวาจาที่สะอาดบริสุทธิ์หมดจด บัณฑิตทั้งหลายนิยมชมชอบ เมื่อเราพูดแต่สิ่งที่ไม่ดี ไม่เกิดประโยชน์ เราก็ไม่ได้พูด ก็ชื่อว่าเราห่างจากสิ่งที่ไม่ดี เมื่อจิตใจน้อมนึกระลึก สิ่งที่ดีมีประโยชน์ ให้เกิดสติ เกิดปัญญา เกิดศรัทธา เกิดความเพียรพยายาม ล้วนแต่ให้เกิดประโยชน์สุขแก่ตัวของตัวเอง ก็เท่ากับเราไม่ได้ไปคิดในเรื่องที่ชั่ว เรื่องที่มีโทษ เมื่อเราคิดแต่เรื่องที่เป็นประโยชน์ เมื่อเรากระทำความดีอยู่อย่างนี้ ชีวิตความเป็นอยู่ของเรา ก็ล้วนแต่อยู่ด้วยดี ชีวิตที่ผ่านมาหมดไปแล้ว ก็หมดไปด้วยดี ชีวิตที่ยังเหลืออยู่ ถ้าเราประพฤติปฏิบัติไม่ลดละ ความดีของเรายิ่งงอกงาม เจริญเพิ่มเติมขึ้นอีกตามลำดับ เราสามารถจะมีกำลังเอาชนะสิ่งที่ไม่ดี อันเป็นสาเหตุให้ขัดขวางความดีได้ เพราะเหตุนั้น การทำความดีเป็นสิ่งที่จำเป็น เราควรศึกษาให้เข้าใจชัด ให้เห็นแจ้งตามหลักแห่งความจริง แล้วมุ่งมั่นปฏิบัติด้วยสัจจะ จึงจะรู้ของจริง จึงจะได้ประสบความจริง เพราะคำว่าเป็นธรรมมีอยู่ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา แต่จิตของเรา เมื่อยังไม่เป็นธรรมแล้ว ถึงธรรมมีอยู่เราก็อ่านไม่ออก เพราะเราไม่ได้ศึกษา

เหมือนผู้ไม่ได้ศึกษาตัวหนังสือ ไม่ได้ศึกษาภาษาต่างๆ เขาใช้ได้ทั่วโลก แต่เราไม่ได้ศึกษา แล้วเราก็พูดไม่ได้ อ่านไม่ออก ถึงมีอยู่ ไม่ใช่ไม่มี

ความสุขมีอยู่ แต่เราไม่ได้ศึกษาให้ถูกต้อง เราก็ไม่ได้รับผลจากสิ่งที่มีอยู่ คือ ความสุข ไม่ได้เป็นสมบัติของเราเลย เป็นสมบัติเลื่อนลอยอยู่อย่างนั้น ไม่เกิดประโยชน์แก่บุคคล ผู้ไม่รู้จัก บุคคลผู้ไม่ศึกษา มรรค ผล ธรรมวิเศษ ถึงมีอยู่ก็ตาม เมื่อเราไม่ได้ศึกษาให้เข้าใจ ไม่ประกอบให้ปรากฏขึ้นเป็นสมบัติของเราแล้ว เหมือนกับไม่มี ไม่ได้ประโยชน์จากสิ่งที่มีอยู่ พระพุทธเจ้าเท่านั้น พระอริยเจ้าเท่านั้น ท่านเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากธรรมะซึ่งเป็นของจริง เป็นสิ่งที่มั่นคง ท่านได้รับประโยชน์จากธรรมะเหล่านั้น ท่านก็ได้พ้นจากทุกข์ เพราะอาศัยรู้ธรรมสิ่งเหล่านี้ อาศัยปฏิบัติธรรม อันเป็นความจริงเหล่านี้

ธรรมที่เป็นความจริงที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา ถึงแม้ว่าท่านสอนหลายนัย หลายอย่าง มีประการต่างๆ ก็จริงแล แต่ถ้าหากเราจะเอามาใช้ให้เกิดประโยชน์แล้ว ไม่จำเป็นจะต้องเอามาทั้งหมด

เหมือนกับเราบริโภคอาหาร หรือเหมือนกับเราต้องการยาบำบัดโรค ซึ่งเภสัชกรเขาแต่งไว้หลายขนานหลายอย่างด้วยกัน เราก็ไม่จำเป็นจะต้องไปเหมายานั้นมาบริโภคให้หมด ให้ร่างกายสมบูรณ์บริบูรณ์ ให้มั่นคง ดีไม่ดีก็เป็นอันตรายด้วยซ้ำไป เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะบริโภคยา เพื่อบำบัดโรค จะต้องศึกษาโรค ศึกษายาให้แน่ชัด แล้วเอามาใช้ให้เหมาะสม ให้พอดีกับโรคพอดีกับยา ก็ย่อมได้รับประโยชน์

การปฏิบัติก็เช่นเดียวกัน ไม่จำเป็นจะต้องเหมาพระไตรปิฏก ให้เหมาะสมแก่จริตแก่นิสัยของเรา ให้รู้จักนิสัยของเรา ให้รู้จักอารมณ์ที่เกิดขึ้นในจิตใจของเรา

อารมณ์ส่วนกิเลส ส่วนไหนเบาบาง ส่วนไหนหนาแน่น ส่วนไหนเราจะเอาธรรมจากส่วนไหนมากำจัด มาระงับ เราก็เลือกเอาให้เหมาะสม พอดีพองาม เราก็จะได้รับประโยชน์ จาการประพฤติ การปฏิบัติ ไม่ต้องเสียเวลา เพราะเหตุนั้น ท่านจึงสอนให้ตรวจตรา พิจารณาดูอารมณ์ ที่เกิดขึ้นในจิตใจของเรา อารมณ์ในส่วนที่ไม่ดี ก็สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ในใจดวงนี้ อารมณ์ที่ดี สิ่งที่ดี ก็สามารถที่จะเกิดขึ้นได้ในจิตใจดวงนี้ เมื่อทั้งดี ทั้งไม่ดี ทั้งมีประโยชน์ ไม่มีประโยชน์ มันมีอยู่อย่างนี้แล้ว จำเป็นที่เราจะต้องศึกษา แล้วเลือกดูหน้าตาให้ชัด บางทีเราอาจจะเข้าใจผิด ของแท้อาจจะเข้าใจว่าเป็นของเทียมก็ได้ ของเทียมอาจจะเข้าใจผิดว่าเป็นของแท้ก็ได้

เพราะฉะนั้น ต้องสังเกตดูนานๆ ดูเหตุผล ให้แน่นอน ให้แจ้งชัด เมื่อเราเห็นเหตุ เราจะทำเหตุ เราจะพูด เราก็ต้องตรวจดูถึงผล ว่าเราจะทำกรรมใดๆ จะลงมือทำก็ต้องตรวจ พินิจพิจารณาดูผลที่จะเกิดขึ้น

เราจะปฏิบัติทางจิตใจก็เช่นเดียวกัน เมื่อเรารู้ทั้งเหตุทั้งผลแล้ว เราปฏิบัติมีศรัทธาเชื่อมั่น มีความเพียรพยายาม จิตตั้งมั่น มีความระลึกไม่ลดละ มีปัญญาสอดส่อง ตรวจตรองแก้ไข ไปตามลำดับ ก็จะถึงจุดหมายปลายทาง ได้รับความสงบ ได้รับความสุข ตามเป้าหมายที่เราทั้งหลายได้ตั้งใจไว้ ไม่เป็นสิ่งเหลือวิสัย

พระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น พระองค์สอนพอดีแล้ว แต่เราผู้มาใช้ไม่รู้จักประมาณในการใช้ ไม่รู้จักพอดี ถ้าเรารู้จักมาใช้พอดี ให้เหมาะสมแล้ว ก็ย่อมมีประโยชน์แก่ทุกๆคน

เหมือนเครื่องจักร เครื่องยนต์ นายช่างที่เขาทำพอดีแล้ว ท่อนเหล็กชนิดไหนมันก็หมุนไปได้ เดินไปได้ไม่ว่าท่อนไหน เหมาะสมในตามรูปร่างลักษณะของมันแล้ว มันก็สำเร็จประโยชน์ จะใช้ไปในทางที่กำหนดเวลา ก็ตรงกับเวลา จะใช้ในประเภทไหนๆ ก็ให้เหมาะสม พอดีในประเภทนั้นๆ ก็ได้สำเร็จประโยชน์ ฉันใด

การอบรมฝึกฝนจิตใจจะหนาแน่นสักเท่าไรก็ตาม ไม่เหลือวิสัย ที่สติ ปัญญา ศรัทธา ความเพียรพยายามของเรา ที่จะไม่ได้ เพราะมีผู้ทำได้แล้ว เราก็ต้องทำได้เช่นเดียวกัน กิเลส มันไม่ใช่ว่ามันฉลาดแค่ไหน ลึกลับมาจากไหน มันก็แสดงออกมาในจิตก็มีขึ้นในจิต ไม่ได้มีบนฟ้า บนอากาศที่ไหนที่เราจะไปไม่ถึง มันมีอยู่ในกาย ใจจิตของเรานี้ เมื่อกายมีอยู่ เราก็สามารถที่จะรู้ได้ ถ้าเราศึกษา เมื่อจิตมีอยู่ เราก็สามารถจะรู้ได้

เพราะพระพุทธเจ้านั้น พระองค์ศึกษาแค่นี้เอง พระองค์ไม่ได้เที่ยวไปศึกษาที่ไหน แต่พระองค์ก็สามารถเป็นโลกวิทู พระองค์รู้แจ้งเรื่องโลก พระองค์ไม่ได้แต่งขึ้นยานพาหนะไปเที่ยวประเทศนั้น ประเทศนี้ ไปเที่ยวจักรวาลนั้น ไปเที่ยวจักรวาลนี้ เปล่า พระองค์นั่งอยู่ในที่แห่งเดียวเท่านั้น พระองค์ยังสามารถระลึกทั้งในปัจจุบัน ทั้งอดีต อย่าว่าแต่โลกนี้ บุพเพแต่ชาติปางก่อน ถอยหลังร้อยชาติ อสงไขยชาติ ก็สามารถที่จะรู้ได้ เห็นได้ แม้แต่อนาคตข้างหน้า พระองค์ก็สามารถรู้ได้ตามความเป็นจริง ไม่คลาดเคลื่อน ว่าสัตว์ทั้งหลายเกิดมาทำกรรม กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ประพฤติประกอบไปด้วยความสุจริต มีศีลธรรม มีศรัทธาอันชอบ มีความเพียรอันชอบ เป็นสัมมาทิฏฐิ รู้จักคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ มีความเคารพนบนอบ ในคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ รู้จักคุณบิดามารดา ครูบาอาจารย์ เป็นคนมีกายอันสะอาด มีวาจาสะอาด มีจิตใจสะอาด เมื่อละขันธ์คือ อัตภาพ อันนี้ไปแล้ว ได้ไปสู่สุคติโลกสวรรค์เป็นจำนวนมาก

บุคคลผู้มีกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เป็นมิจฉาทิฏฐิ ถือมั่นในมิจฉาทิฏฐิ ไม่เคารพต่อบุคคลที่ควรเคารพ ไม่บูชาต่อบุคคลหรือวัตถุที่ควรบูชา มีความโลภครอบงำ มีความอิจฉาริษยาอยู่ประจำ ในจิตใจอยู่ตลอดเวลา เมื่อละขันธ์แล้ว ไปสู่ทุคตินรก อสูรกาย สัตว์เดียรัจฉาน ตกทุกข์ได้ยาก พระองค์เห็นชัด ที่ตกนรกก็ดี ไปเกิดเป็นสัตว์เดียรัจฉานก็ดี เป็นเปรตก็ดี พระองค์เห็นด้วยธรรมจักษุ ด้วยตาอันสะอาด บริสุทธิ์หมดจด ไม่มีอะไรสงสัย

เพราะฉะนั้น พระองค์ไม่ได้เที่ยวที่ไหน พระองค์ก็รู้ในใจนี้เอง เพราะสิ่งเหล่านี้มีขึ้นในใจ

เพราะฉะนั้น เราทั้งหลาย ใจนี้ควรฝึก ใจนี้ควรอบรม เมื่อเราอบรมดีแล้ว ประโยชน์สุขมาสู่ตัวของเรา ที่เราทั้งหลาย ได้พยายามตั้งใจอบรม มาตามลำดับ ได้ทำมาแล้ว ควรจะทำต่อไป

ถ้าเราทั้งหลาย ทำไม่ลดละ พยายามติดต่อต่อเนื่องกัน จิตใจของเราจะต้องฉลาดแน่นอน

เหมือนกับเราพยายามเรียนหนังสือ หรือฝึกหัดวิชาการทำงานทางโลก แรกๆ เราก็ทำอะไรไม่เป็น เมื่อเราฝึกไปๆ แล้ว จิตใจก็ย่อมฉลาด

เพราะฉะนั้น ที่เราได้อัตภาพเป็นมนุษย์ ดีหนักหนาแล้ว มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ ที่พูดกันรู้เรื่อง สามารถปฏิบัติได้ พระองค์ก็ได้อัตภาพเป็นมนุษย์ก่อน จึงได้เป็นพระพุทธเจ้า จึงได้เป็นอรหัตอรหันต์ จึงสามารถจะศึกษาปฏิปทา ปฏิบัติให้สิ้นกิเลส แล้วพระองค์สั่งสอนมวลมนุษย์ เป็นผู้จรรโลงพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ไว้ ก็อยู่ในโลกมนุษย์นี้เอง มนุษย์นี้เองเป็นผู้รับทายาท ศาสนธรรม คำสอนของพระองค์ ไม่ใช่อื่นไกล ก็พวกเรานี้แหละ เป็นมนุษย์ก็พวกเรานี้แหละ ควรฝึกได้ ปฏิบัติได้ ศึกษาได้ พวกเรานี้จะทำให้สงบได้ ให้มีความสุขได้ เมื่อเราทำไม่ดียังทำได้ ทำดีจะทำไม่ได้หรือ เมื่อวุ่นวายก่อกวน มันก็วุ่นวายได้ เราจะสงบไม่ได้หรือ เราจะปฏิบัติให้มันตรงกันข้ามกับสิ่งที่ไม่ดี พิจารณาให้ตรงกันข้ามกับสิ่งที่ไม่ดี เพราะสิ่งที่ไม่ดีนั้น อย่าเข้าใจว่ามันมีอุปการคุณ เป็นมิตรแก่เรา เราถือว่าสิ่งที่ไม่ดีนี้เป็นทุกข์ภัยที่เราควรหลีก ควรละ ควรเว้น ตั้งแต่ไหน แต่ไรมา สิ่งที่ไม่ดีเราเรียกว่าอกุศลธรรมก็ดี ไม่ว่าทางทวารไหนก็ตาม เมื่อบังเกิดแล้ว ไม่ใช่เกิดเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข เกิดเพื่อแผดเผา ให้คนทั้งหลายได้ทุกข์ ได้ความเดือดร้อน ส่วนความดี ทานก็ดี ศีลก็ดี ภาวนาก็ดี เมื่อบังเกิดแล้ว บังเกิดเพื่อความสุข เพื่อประโยชน์เกื้อกูล แก่บุคคลนั้นด้วย เกื้อกูลแก่โลกด้วย

เพราะฉะนั้น การบังเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้า การบังเกิดขึ้นของพระธรรม การเกิดขึ้นของพระอริยสงฆ์ จึงเป็นสิ่งที่บังเกิดขึ้น เพื่อประโยชน์ เกื้อกูล ความสุขแก่สาธุชนเวไนยสัตว์ทั้งหลาย

เราทั้งหลาย ที่ได้มาพบ ประสบ ได้ศึกษา ประพฤติ ปฏิบัติ นับว่าเป็นบุญลาภอย่างประเสริฐ ไม่ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้เสมอทุกครั้งไป ไม่ใช่ว่ามีทุกแห่งทุกหน มีบางส่วนบางจุดเท่านั้น แล้วก็มีบางคราวเท่านั้น แม้แต่คำว่า พุทโธๆ ไม่ใช่ว่าได้ยินประจำโลก ทุกกาลทุกสมัยเมื่อไหร่ ถ้าพระพุทธเจ้าไม่ได้ตรัสรู้บังเกิดในโลก และวางศาสนาไว้แล้ว แม้แต่พุทโธก็ไม่เคยได้ยิน ธัมโมก็ไม่เคยได้ยิน สังโฆก็ไม่เคยได้ยิน ศีล สมาธิ ปัญญา ก็ไม่เคยได้ยินแล้ว จะปฏิบัติอย่างไร มันก็เหมือนสัตว์ไม่รู้จักอะไรอย่างนั้นน่ะ เพราะสอนกันไม่มีใครจะสอนใคร ไม่มีใครจะบอกใคร เพราะไม่มีใครรู้

ต่อเมื่อองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ปรากฏขึ้นแล้วในโลก พระธรรมจึงได้ปรากฏ พระสงฆ์ก็ปรากฏ แท้จริงพระธรรมก็มีอยู่ก่อนแล้ว แต่มันยังไม่ปรากฏ เพราะไม่มีผู้ฟื้นฟูขึ้นมาตบแต่ง เอามาใช้ให้เกิดประโยชน์

เพราะฉะนั้น พึงเข้าใจว่า ปัจจุบันที่เราเกิดมานับว่าเป็นผู้มีโชคดี อย่าให้ความดีนี้ผ่านไปโดยไร้ประโยชน์ แต่ละวันๆ ควรตั้งใจประกอบให้ผ่าน ให้สิ่งที่ผ่านไป ก็ผ่านไปด้วยดี ชีวิตของเราที่ยังเหลืออยู่ก็ให้ได้คุณธรรม คุณสมบัติ ความดีที่เราทำไว้ในใจ ไม่ได้หมดไปด้วย ตามเดือน ปี ตามกาลเวลา

เหมือนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แม้แต่ธาตุขันธ์ กาลเวลาหมดไป นานไป 2,000 กว่าปีแล้ว ความดีที่พระองค์ได้ทำไว้ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ไม่ได้ล่วงไป ไม่ได้หมดไป ยังเหลืออยู่ให้เป็นมรดกตกทอดแก่เราทั้งหลายได้ศึกษาปฏิบัติฝึกหัดอบรม

เพราะเหตุนั้น จึงมั่นใจในความดี ที่เราประพฤติปฏิบัติอยู่ว่า ไม่ได้หมดไปตามกาล ตามเวลา ยิ่งปฏิบัติเห็นสัจจะความจริงเท่าไรแล้ว เป็นสิ่งที่มั่นคง และเป็นสิ่งที่ไม่ตาย เป็นสิ่งที่ปรากฏอยู่ตลอดเวลา ถ้าเรารู้จัก แต่ถ้าเราไม่รู้จักแล้ว ถึงมีอยู่เหมือนกับไม่มี มันก็ไม่เห็น เพราะไม่รู้จัก

เพราะฉะนั้น เราทั้งหลายตั้งใจศึกษาของจริงอย่างประเสริฐ ไม่ได้อยู่ที่อื่นไกล อยู่ในใจของเรา ทุกข์ก็เป็นของจริงอย่างประเสริฐ มีอยู่ในตัวของเรานี้แหละ พระพุทธเจ้าไม่ได้รู้ตัวที่ไหน รู้อยู่ที่นี่ ท่านอ่านทุกข์ อ่านสมุทัย ที่มีอยู่ที่นี่ทั้งนั้น

เพราะฉะนั้น ถ้าจิตใจของเรา อบรมให้แน่วแน่ผ่องใส ด้วยศรัทธาเลื่อมใส ได้รับความสงบแล้ว เราจะมองเห็นชัด จะรู้ชัด ตามลำดับ ในธรรมที่เราจะต้องรู้ต้องเห็นเป็นประทีปคอยส่องดู สิ่งไหนผิด สิ่งไหนถูก สิ่งไหนควร สิ่งไหนไม่ควร เราก็จะได้หลบหลีก และได้เจริญในสิ่งที่มีประโยชน์

เพราะฉะนั้น ต่อไปนี้ตั้งใจสอดส่อง ธัมมวิจยะ คือ ส่องธรรม ถ้าพูดถึงธรรมแล้ว ก็ต้องพูดถึงใจด้วย เพราะธรรมไม่ได้เกิดนอกใจ มีใจถึงก่อน สำเร็จด้วยใจ เพราะฉะนั้นเราก็ส่องดูใจ เมื่อเราเห็นใจ ก็เห็นธรรม เมื่อเราเห็นธรรมก็เห็นใจอยู่ในที่นั้น เพราะฉะนั้น เราต้องพยายามระลึก เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งละเอียด ถ้าเราไม่ระลึกไว้ เราก็ไม่เห็น ถึงมีอยู่ก็ไม่เห็น เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ ต้องอาศัยความระลึกขึ้นมา จะเป็นพุทโธๆ เราก็ระลึกรู้อยู่ตามลำดับ สติก็ปรากฏขึ้นมา สุข ทุกข์ ที่มีอยู่มันเปลี่ยนแปลงอย่างไร เราก็จะได้รู้ อารมณ์หยาบ ละเอียด มีอยู่ในจิตใจ เราก็จะได้รู้ จิตใจค่อยสงบ ละเอียด สบาย ตามลำดับ เราก็จะได้รู้ความสบาย จะได้เห็นความสบาย ชัดขึ้นในจิตใจของเรา เราก็จะได้เป็นเครื่องเปรียบเทียบได้ว่า เมื่อจิตของเรา ที่ยังไม่ได้ปฏิบัติเป็นอย่างไร เมื่อเราระลึกพุทโธๆ ไปแล้ว ความรู้สึกเป็นอย่างไรนั้น แน่นอน จิตใจของเราจะต้องละเอียด จะต้องเบา จะต้องสบายกว่าที่เราปล่อยจิตให้มัวเมา เลินเล่อไปในเรื่องอื่น เรามีความรู้ตัวมากขึ้น มีความเห็นชัดในส่วนผิด ในส่วนถูก ก็มีความเห็นชัดขึ้น เกิดความเบื่อหน่ายในสิ่งที่ผิด มีศรัทธาที่จะปล่อย ที่จะวาง ที่จะละ ในส่วนดีก็มีศรัทธาที่จะเจริญ ที่จะเพียรพยายามเจริญขึ้นมา

เพราะฉะนั้น ขอให้เราทั้งหลาย พยายามตั้งใจ ต่อไปนี้จะหยุดการอธิบาย เพื่อให้เราทั้งหลายได้ส่องธัมมวิจยะ ส่องดูธรรมของเรา พุทโธๆ รักษาอยู่อย่างนั้นให้พอดี พองาม

คำว่า "พอดี" เราก็รู้จักแต่งให้มันพอดีในใจของเรา ให้มันสงบ ให้มันเบา มันสบาย ตามลำดับ อย่าให้มันเกิน ส่วนเกินส่วนไหน เราก็เอาออก เราไม่เอา ให้เหลือแต่พอดี ที่มันเกิดความสบายขึ้นมา เกิดความสงบขึ้นมา ถ้ามันจะง่วง มันไม่พอดีแล้วนะ มันโน้ม มันหนัก ไปทางขี้เกียจ ไม่สนใจจะทอดธุระ เราก็สร้างความขยัน เอาใจใส่ขึ้นมา ตั้งมั่นขึ้นมา ถ้ามันจะฟุ้งซ่าน มันก็ไม่พอดีอีกแหละ เพราะฉะนั้นเราก็พยายามรู้ตัวให้มาก ให้รู้สึกอยู่โดยเฉพาะภายใน ให้รวมเข้ามา โอปนยิกธรรม คือ น้อมเข้ามาให้มาก อยู่เฉพาะในใจของเรา สอดส่อง เพ่งเล็ง ตั้งจุดลงตรงนั้น รักษาให้พอดีๆ แม้แต่ลมหายใจก็พอดี ความรู้สึกก็พอดี ถ้าเราทำความพอดีไว้ในใจได้แล้ว ใจก็จะรู้สึกเบา รู้สึกสบาย ละเอียด สงบ ไปตามลำดับ เอ้า! ต่อไปนี้ ตั้งใจให้พอดี

…พระโพธิธรรมาจารย์เถร (หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ)…

วันพฤหัสบดีที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2552

ทำไมคนเรา "ไม่เห็น" ธรรม

ทำไมคนเรา "ไม่เห็น" ธรรม


คำถาม ๑ (พระบุญตา ปสนฺนจิตฺโต)
เรื่องของธรรมะเป็นของมีอยู่ประจำในตัวของแต่ละบุคคล จะสูงจะต่ำหยาบหรือละเอียดก็ดี ทำไมคนเราจึงมองไม่เห็นธรรมนั้น เพราะเหตุใด


คำตอบ ๑ (หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี)
เรื่องธรรมะเป็นของเห็นได้ยากเหมือนกัน

ธรรมะมีประจำไม่ใช่เฉพาะบุคคลเท่านั้น แท้จริงธรรมะเป็นของมีอยู่ทั่วหมดในโลกอันนี้
ที่ท่านเรียกว่ารูปธรรม นามธรรมนั่นเอง

ที่คนมองเห็นได้ยากก็เพราะพื้นฐานภูมิของใจมันยังมืดอยู่ด้วยกิเลส ซึ่งไม่สามารถจะรับรองหรือรับเอาธรรมะนั้นมาไว้คิดพิจารณาค้นคว้า
ได้แก่ใจยังไม่สงบ

ความสงบของใจเป็นพื้นฐานที่ตั้งของธรรมะ ธรรมะเป็นความสงบ

คือคนเราโดยมากหาธรรมะ มีแต่คิดส่งส่ายออกไปภายนอก ถึงรู้ก็ตามเถิด

รู้ตามปริยัติที่บัญญัติไว้ในตำรา
หรือว่าพิสูจน์ตามหลักฐานคือศัพท์หรือคำบาลีนั้น
ยังไม่ใช่ตัวธรรมะที่แท้จริง

เป็นแต่รู้ตามตำรา
จะเอามาใช้ให้ได้ประโยชน์อย่างแท้จริงยังไม่ได้ก่อน

ต่อเมื่อรู้ด้วยปัจจัตตังเฉพาะตนเท่านั้น
จึงจะนำเอามาใช้ได้ประโยชน์อย่างเต็มที่

ฉะนั้นจึงเป็นของเห็นได้ยาก

ทำไมจึงต้องมีธรรมะ?

ธรรมะอันหมายถึงหลักการปฏิบัติที่ดีงามนี้ก็มีหลักปฏิบัติอยู่ ๓ ประการคือ (๑) ละเว้นความชั่วทั้งปวง (๒) ทำดีให้พร้อมมูล และ (๓) ทำจิตให้บริสุทธิ์ ซึ่งความชั่วที่ควรละเว้นโดยสรุปก็คือการประทุษร้ายชีวิตและทรัพย์สินทั้งของผู้อื่นและของตนเอง ส่วนความดีที่ควรปฏิบัติโดยสรุปก็ได้แก่การเป็นมิตรกับทุกคน ช่วยเหลือผู้ที่กำลังเดือดร้อนเป็นทุกข์ และปฏิบัติหน้าที่ของตนอย่างถูกต้อง ส่วนการทำจิตให้บริสุทธิ์ก็คือการฝึกฝนอบรบจิตเพื่อให้ปราศจากความโลภ โกรธ และความโง่ทั้งปวง
ทำไมจึงต้องมีธรรมะ? มนุษย์ทุกคนย่อมเกลียดกลัวความทุกข์และอยากมีความสุข ซึ่งการทำความชั่วนั้นย่อมมีผลเป็นความทุกข์ความเดือดร้อนทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น และนำมาซึ่งความพินาศ จึงเป็นสิ่งที่ควรละ ส่วนการทำความดีนั้นย่อมมีผลเป็นความสุขสงบทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น จึงเป็นสิ่งทีควรปฏิบัติ ส่วนการทำจิตให้บริสุทธิ์นั้นจะทำให้ผู้ปฏิบัติมีความทุกข์ทางใจลดน้อยลง หรือไม่มีเลยก็ได้ถ้าปฏิบัติได้ถูกต้องสมบูรณ์
ชีวิตของเรานี้ตั้งแต่เกิดจนตายถ้ามีธรรมะเป็นหลักในการดำเนินชีวิตก็ย่อมที่จะมีทุกข์น้อยแต่ว่ามีสุขมาก แต่ถ้าเหินห่างธรรมะก็ย่อมที่จะมีทุกข์มากแต่ว่ามีสุขน้อย ธรรมะจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับชีวิต ถ้าขาดธรรมะก็เท่ากับหลักการของชีวิตที่ดี และชีวิตก็ย่อมที่จะเดินไปตามหลักการที่ไม่ดี ซึ่งการมีธรรมะนั้นเป็นเรื่องง่ายสำหรับผู้ที่ได้รับการอบรมมาดีตั้งแต่ยังเด็กๆ แต่จะยากสำหรับผู้ที่เพิ่งมาเริ่มอบรมเอาเวลาที่โตแล้ว เพราะมันจะฝืนจิตใจ
ตามธรรมชาติของจิตใจคนเรานี้ย่อมที่จะไหลไปตามความรู้สึกฝ่ายต่ำ คือจะเอาแต่ความสุขสบายและหลีกหนีหรือทำลายความทุกข์ยากลำบากที่เกิดเฉพาะหน้า โดยไม่สนใจว่าการกระทำนั้นจะดีหรือชั่ว ซึ่งการทำสิ่งที่ดีนั้นมันจะยากลำบากหรือไม่ค่อยจะสนุกสนานจึงไม่ค่อยจะมีใครอยากทำ แต่การทำสิ่งที่ชั่วหรือไม่ดีนั้นมันง่ายกว่าและมักจะสนุกสนานจึงมีผู้คนนิยมทำกันมาก ธรรมะจึงเป็นการกระทำที่ฝืนจิตใจฝ่ายต่ำเป็นอย่างมาก และเมื่อผู้คนมีอิสระในการเลือกปฏิบัติ จึงทำให้ผู้คนเหินห่างธรรมะกันมากขึ้น นี่เองที่ทำให้บางศาสนาใช้วิธีบังคับให้ผู้นับถือต้องมีธรรมะหรือต้องปฏิบัติตามหลักของศาสนาอย่างเคร่งครัด ถ้าใครฝ่าฝืนจะถูกลงโทษอย่างหนัก ซึ่งก็ทำให้สังคมของเขามีความสงบสุขมาตลอดเวลาที่ผู้คนยังมีธรรมะกันอยู่
ผู้คนสมัยใหม่นี้ไม่ค่อยจะสนใจธรรมะกันแล้ว เขาเป็นคนที่เห็นแก่ตัวมากขึ้น และเห็นคนอื่นไร้ค่าเหมือนผักปลาที่มีไว้ให้เขากิน ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะสิ่งยั่วยวนให้เกิดความสุขสนุกสนานนั้นมีมากขึ้นและวิจิตรพิสดารมากขึ้น พร้อมทั้งแสวงหาได้ง่ายขึ้นเพราะมีพลังงานและเทคโนโลยี่ทันสมัยมาช่วยเหลือ ซึ่งมันเหมือนเหยื่อล่อที่น่ารักน่าหลงใหลอย่างยิ่งที่หาได้ง่ายจนไม่มีใครอยากจะละทิ้งมันไป ทั้งๆที่อาจจะรู้ว่ามันเป็นกับดักไปสู่ปัญหาและความทุกข์ความเดือดร้อนอย่างยิ่งในอนาคตก็ตาม ซึ่งก็แน่นอนว่าสังคมจะเลวทรามมากขึ้นและหาความสุขสงบได้ยากขึ้นอย่างเช่นที่กำลังเป็นอยู่ในสังคมของเราปัจจุบัน
สมัยนี้ใครๆก็อยากจะร่ำรวย เพราะการมีทรัพย์มากก็เท่ากับจะซื้อหาสิ่งให้ความสุขสนุกสนานได้มากขึ้น ดังนั้นผู้คนจึงเห็นแก่ตัวมากขึ้น แสวงหาและกอบโกย รวมทั้งเก็บกักตุนเอาไว้เป็นของตนเองมากขึ้น ซึ่งก็มีทั้งอย่างที่ผิดกฎหมายและถูกกฎหมาย ซึ่งมันก็ย่อมที่จะทำให้ผู้คนถูกเบียดเบียนมากขึ้น และทรัพยากรเช่น ป่าไม้ ภูเขา แม่น้ำ ลำคลอง และทะเลก็ถูกทำลายลงอย่างย่อยยับมากขึ้นทั้งอย่างถูกกฎหมายและผิดกฎหมาย ซึ่งก็ทำให้ผู้ที่ถูกเบียดเบียดนั้นมีความทุกข์ความเดือดร้อนมากขึ้น และแน่นอนว่าเมื่อมีผู้คนเดือดร้อนมากขึ้น ความโกรธเกลียดกันก็ย่อมที่จะมีมากขึ้น ซึ่งก็จะส่งผลให้สังคมไม่สงบสุข และมันก็ย่อมที่จะมีผลกลับมาถึงผู้ที่เห็นแก่ตัวนั่นเองในที่สุด
อีกอย่างผู้คนสมัยนี้มีความอดทนน้อยและมีความเกียจคร้านมากขึ้น การทำงานหนักที่ต้องใช้แรงกายและต้องทนต่อความร้อนความหนาวนั้นไม่มีใครอยากทำ จึงทำให้ต้องใช้พลังงานและเทคโนโลยี่มาช่วยทำแทน รวมทั้งสิ่งของฟุ่มเฟือยที่เป็นของกินของเล่นก็มีมากมายเต็มไปหมด ซึ่งก็ทำให้ต้องสูญเสียทรัพย์ในการซื้อหามามากขึ้น และก็ส่งผลให้ต้องเสียดุลการค้ากับประเทศอื่นมากขึ้น และส่งผลทำให้ประเทศเรายากจนลงเรื่อยๆ
สังคมของเราเปลี่ยนจากสังคมที่เรียบง่ายมาเป็นสังคมบริโภคนิยมหรือฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยกันไปเสียแล้ว เรากินเราใช้กันอย่างฟุ่มเฟือยตามค่านิยมของสังคมของชาวตะวันตก ที่เขามีความรู้ความสามารถที่จะผลิตสิ่งฟุ่มเฟือยขึ้นมาเสพและมาขายให้แก่เรา ซึ่งแน่นอนว่าคนขายย่อมได้เปรียบกว่าคนซื้อ ดังนั้นยิ่งเราฟุ่มเฟือยเราก็จะยิ่งยากจนลงเรื่อยๆ ซึ่งก็เท่ากับตกเป็นทาสของเขาไปด้วยความยินดี
ถ้าเราไม่หันกลับมามีธรรมะเหมือนสมัยที่ปู่ ย่า ตา ยายของเราเคยมีกันมาก่อน ไม่กลับมาใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ไม่มีเมตตารักใคร่สามัคคีดันต่อกัน ไม่ขยันอดทน และไม่รักษาป่าไม้ หรือแม่น้ำลำคลอง ท้องทะเลกันเสียแล้ว ก็แน่นอนว่าสังคมของเราจะไม่สงบสุข จะมีแต่ปัญหาและความทุกข์ความเดือดร้อนกันอยู่เรื่อยไปอย่างที่กำลังเป็นอยู่ในปัจจุบัน และไม่นานสังคมก็จะล่มสลาย และตกเป็นทาสของประเทศชาติอื่นที่เขาเข้มแข็งกว่าไปอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง

ธรรม หรือ ธรรมะ คือ อะไร

ธรรม หรือ ธรรมะ คือ อะไร

ธรรม คือ สภาพที่ทรงไว้, ธรรมดา, ธรรมชาติ, สภาวธรรม, สัจจธรรม,
ความจริง; เหตุ, ต้นเหตุ, สิ่ง, ปรากฏการณ์, ธรรมารมณ์, สิ่งที่ใจคิด;
คุณธรรม, ความดี, ความถูกต้อง, ความประพฤติชอบ; หลักการ,
แบบแผน, ธรรมเนียม, หน้าที่; ความชอบ, ความยุติธรรม;
พระธรรม, คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งแสดงธรรม
ให้เปิดเผยปรากฏขึ้น
(พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์)

ธรรมชาติ คือ อะไร

ธรรมชาติ คือ ของที่เกิดเองตามวิสัยของโลก
เช่น คน สัตว์ ต้นไม้ เป็นต้น
(พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์)

ธรรมดา คือ อะไร

ธรรมดา คือ อาการหรือความเป็นไปแห่งธรรมชาติ;
สามัญ, ปกติ, พื้นๆ
 

DHAMMA DHAMMO © 2008. Design By: SkinCorner